หลังจากที่ประชุมวุฒิสภา (สว.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา และกำลังจะเข้าสู่ขั้นตอนการประกาศใช้เป็นกฎหมาย ซึ่งจะมีการทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไทย หลังจากนั้นกฎหมายจะมีผลบังคับใช้จริง 120 วัน นับแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือประมาณช่วงไตรมาสสี่ ของปี 2567

การผ่านร่างกฏหมายดังกล่าว ทำให้ ประเทศไทย เป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีกฎหมายแต่งงานของบุคคลเพศเดียวกัน ซึ่งในแต่ละปีการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความเสมอภาค ความหลากหลาย ของคนในสังคมได้รับความสนใจขยายเป็นวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งไม่ได้หมายถึงเฉพาะเพศที่สามเท่านั้น

เมื่อพูดถึงความเท่าเทียม นอกจากการสมรสเท่าเทียมแล้วในเชิงสังคม ความเท่าเทียม ยังรวมถึง ความเท่าเทียมในการใช้ชีวิต โดยปัจจุบัน ได้มีแนวคิดทางสถาปัตยกรรมที่คำนึงถึงความเท่าเทียมกันในพื้นที่สาธารณะ ที่น่าสนใจคือ ห้องน้ำเท่าเทียม หรือ ห้องน้ำสำหรับทุกเพศ หรือ ห้องน้ำสำหรับทุกคน หรือ Inclusive Restroom เป็นห้องน้ำสำหรับทุกคนที่ไม่ใช่เฉพาะบุคคลข้ามเพศ แต่รวมถึง ผู้สูงอายุ คนพิการ และเด็กๆ  ที่สามารถเข้ามาใช้ร่วมกันได้

วันนี้ผมเลยอยากมาเล่าถึง แนวทางการออกแบบ ห้องน้ำสำหรับทุกเพศ ซึ่งปัจจุบันนิยมมากในต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศยุโรป สหรัฐอเมริกา โดยห้องน้ำในรูปแบบนี้ สามารถแยกออกได้เป็น 2 แบบ คือ

- แบบใช้ร่วมกันหลายคน (Multi-User Restroom) และ แบบใช้คนเดียว (Single-User Restroom)

ห้องน้ำสำหรับทุกเพศแบบใช้ร่วมกันหลายคน (Multi-User Restrooms)  ลักษณะทั่วไปของห้องน้ำสำหรับทุกเพศแบบใช้ร่วมกันหลายคน (Multi-User Restrooms) ในเชิงโครงสร้าง จะเหมือนกับห้องน้ำแยกเพศแบบดั้งเดิม โดยมีการออกแบบที่ แยกห้องสุขา แต่ใช้ อ่างล้างมือร่วมกัน หากแต่ในบริบทของสังคมไทย อาจมีความกังวลในเรื่องของความปลอดภัยหากหญิงและชายต้องใช้ห้องน้ำร่วมกัน

ในขณะที่ปัจจุบันได้มีงานออกแบบที่คำนึงถึงการใช้งานและความปลอดภัยในการใช้งานร่วมกันระหว่าง หญิงและชาย ในห้องน้ำที่ออกแบบสำหรับทุกเพศ ที่น่าสนใจคือ งานออกแบบของ Stalled! ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่รวมตัวกันจากหลายสาขาอาชีพประกอบด้วย สถาปนิก นักประวัติศาสตร์ นักวิชาการด้านกฎหมาย ในสหรัฐอเมริกา โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดสำหรับห้องน้ำทุกเพศโดยคำนึงถึงข้อพิจารณาทางกฎหมาย เศรษฐกิจ และในทางปฏิบัติ 

ตัวอย่าง กรณีศึกษาการปรับปรุงห้องน้ำ ของสนามบิน ให้เป็น Inclusive Restroom โดยแบ่งออกเป็น 3 zone คือ Grooming, Washing และ Eliminate

 

แปลนและรูปตัดของห้องน้ำกรณีศึกษาในสนามบิน ออกแบบโดยทีม Stalled! 

แต่เดิมห้องน้ำอยู่ในตำแหน่งเส้นทางสัญจรหลักที่มีคนใช้งานเยอะอยู่แล้ว จึงทำการเปิดให้พื้นที่เชื่อมต่อกัน เพื่อให้ห้องน้ำไม่ใช่พื้นที่ปิดกั้นอีกต่อไป มีความปลอดภัยมากขึ้น 

ผู้ใช้งานจะได้รับประสบการณ์จากการไล่ระดับประสาทสัมผัสผ่านพื้นที่ตกแต่งภายนอกสุดไปยังส่วนของห้องน้ำด้านในสุด จากที่สาธารณะไปสู่ส่วนตัว จากที่เปิดไปสู่ที่ปิด เรียบไปสู่หยาบ แห้งไปสู่เปียก ด้วยการออกแบบเสียงและแสงที่ช่วยสร้างบรรยากาศ นอกจากนั้นสีผนังของห้องน้ำเลือกเป็นสีน้ำเงินเข้ม เพื่อให้ผู้ที่ต้องใช้ภาษามือ สามารถมองเห็นมือของคู่สนทนาได้ชัด โดยมีการจัดโซน ออกเป็น Grooming Station วึ่งเป็นพื้นที่ส่วนหน้าของห้องน้ำ ถัดมาเป็นส่วนของ Washing Station ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนกลางที่ใช้ร่วมกัน และ พื้นที่ส่วนตัวของแต่ละคนที่เรียกว่า  Eliminating  Station  

GROOMING STATION

พื้นที่ส่วนหน้าห้องน้ำ จัดวางเคาท์เตอร์ที่ติดตั้งผนังกระจกอัจฉริยะแสดงข้อมูล เวลามาถึงและออกเดินทางของเที่ยวบิน สภาพอากาศ และร้านค้าต่างๆ  โดยมีความสูงของเคาน์เตอร์หลายระดับ ที่ให้บริการคนที่มีระดับความสูงและความสามารถต่างกัน ผู้ที่ต้องการความเป็นส่วนตัวสามารถใช้พื้นที่ที่มีม่านกั้น เพื่อให้นมบุตร ใช้ในการทำสมาธิและสวดมนต์ หรือทำหัตถการทางการแพทย์ เช่น การฉีดอินซูลิน เป็นต้น

WASHING STATION

จากปกติที่เป็นเคาท์เตอร์อ่างล้างหน้า ปรับการออกแบบให้เป็นพื้นที่เกาะกลาง โดยมีแนวคิดจากลานน้ำพุสมัยโรมัน ซึ่งเป็นพื้นที่ ที่ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่, เด็ก, ผู้ที่นั่งรถเข็น หรือชาวมุสลิม ให้สามารถทำพิธีล้างบาปเพื่อทำความสะอาดใบหน้า มือ แขนและเท้าได้ด้วย

นอกจากนั้นยังมีการจัดระดับของการปล่อยน้ำให้มีความสูงที่ต่างกัน โดยก็อกน้ำใช้ระบบตรวจจับการเคลื่อนไหว เพื่อให้แต่ละคนสามารถเลือกใช้งานได้ตามที่สะดวก ส่วนรับน้ำที่ปกติเป็นอ่างล้างหน้า ก็เปลี่ยนเป็นแผ่นระนาบเอียงที่น้ำจะไหลไปรวมกันผ่านผนังด้านใต้ลงไปสู่รางรับน้ำด้านล่าง และทำการรีไซเคิลกลับมารดน้ำต้นไม้ที่อยู่ในกระถาง ทำให้เกิดภาพน้ำตกที่สวยงามและเสียงน้ำไหลสร้างบรรยากาศ

รูปตัดแสดงการออกแบบ WASHING STATION

ELIMINATING STATION

ห้องสุขาจะเป็นส่วนที่อยู่ด้านในสุด โดยออกแบบให้มีห้องสุขา 3 แบบ ประกอบด้วยห้องมาตรฐาน, ห้องขนาดใหญ่สำหรับผู้ใช้รถเข็น และห้องขนาดเล็กรองลงมา มีชาวเวอร์อาบน้ำ เก้าอี้พับที่ใช้วางของสำหรับเปลี่ยนเสื้อผ้า ซึ่งผู้ปกครองที่มีเด็กอ่อน หรือผู้ที่ความเคร่งครัดด้านศาสนาสามารถใช้งานได้อย่างสะดวก และบริเวณพื้นจะมีไฟแสดงสถานะ ‘ว่าง’ ของห้องน้ำ โดยไฟจะดับลงเมื่อประตูถูกปิด

กรณีศึกษาห้องน้ำต้นแบบในสนามบินนี้ เป็นการนำเสนอทางเลือกในเรื่องความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้ที่ต่างเพศกัน เนื่องจากเป็นพื้นที่กึ่งสาธารณะ ไม่ใช่พื้นที่ลับตาคน และลดความหนาแน่นที่ต้องต่อคิวนานในห้องน้ำหญิง แต่อาจจะต้องมีการพิจารณาเพิ่มเติมในส่วนของโถปัสสาวะ เพราะช่วยในเรื่องความสะดวกรวดเร็วในการใช้งานและการรักษาความสะอาดด้วย 

ห้องน้ำสำหรับทุกเพศแบบใช้คนเดียว (Single-User Restroom

ห้องน้ำประเภทนี้มักจะพบเจอได้บ่อยตามร้านอาหารหรืออาคารพาณิชย์ที่มีพื้นที่จำกัด คือเป็นห้องที่มีทั้งโถสุขภัณฑ์และอ่างล้างหน้า รวมกันอยู่ในห้องเดียว ซึ่งสามารถใช้ร่วมกันได้ทุกเพศ ห้องน้ำประเภทนี้ก็เป็นที่นิยมกันในครอบครัว ผู้ปกครองมีพื้นที่ส่วนตัวสำหรับเปลี่ยนผ้าอ้อมหรือช่วยเหลือเด็กเล็ก

 ห้องน้ำทุกเพศแบบใช้คนเดียว จะใช้พื้นที่น้อยลงเมื่อเทียบกับห้องน้ำแบบแยกเพศเป็น 2 ห้อง ตัวอย่างเช่น ห้องน้ำสองห้องใช้พื้นที่อย่างน้อย 5 ตารางเมตร แต่หากรวมเป็นห้องเดียวจะใช้พื้นที่เพียง 4 ตารางเมตร รวมถึงจำนวนสุขภัณฑ์และอุปกรณ์ติดตั้งที่ลดลงไปครึ่งนึง

ตัวอย่างเปรียบเทียบขนาดแปลนห้องน้ำแบบแยกเพศและห้องน้ำแบบใช้คนเดียว

แต่หากเป็นการออกแบบอาคารขนาดใหญ่ ที่มีผู้ใช้งานเยอะ และถูกควบคุมจำนวนสุขภัณฑ์ด้วยกฎหมายอาคาร จะต้องมีการพิจารณาปรับปรุงจำนวนห้องน้ำให้เหมาะสมกับขนาดพื้นที่ด้วย

การออกแบบป้ายสัญลักษณ์

นอกจากการออกแบบห้องน้ำให้รองรับกับการใช้งานที่เหมาะสมแล้ว การออกแบบป้ายสัญลักษณ์ห้องน้ำ มีความจำเป็นที่จะต้องใช้กราฟฟิครูปคนง่ายๆ ที่แสดงถึง อัตลักษณ์ทางเพศ เพศชายจะเป็นรูปแบบที่เห็นสัดส่วนของขาชัดเจนสื่อถึงการใส่กางเกง ส่วนเพศหญิงจะสื่อถึงชุดเดรสหรือรูปแบบที่เหมือนกระโปรง แต่หากจะสื่อถึง "เพศเป็นกลาง" หรือ "ยูนิเซ็ก" ควรใช้สัญลักษณ์อย่างไร? 

ป้ายห้องน้ำทุกเพศบางแห่งใช้รูปที่สามเพิ่มเติมจากไอคอนแยกชาย / หญิง ซึ่งรูปแบบนี้อาจเป็นปัญหาที่ตอกย้ำเกี่ยวกับคนข้ามเพศว่าเป็นสิ่งที่ต่างออกไป

นักออกแบบและนักเคลื่อนไหว Sam Killermann เสนอวิธีแก้ปัญหาที่เรียบง่าย โดยใช้ไอคอนของสุขภัณฑ์เพื่อสะท้อนสิ่งที่ผู้ใช้สามารถคาดหวังที่จะพบได้อย่างถูกต้อง แทนการใช้สัญลักษณ์ทางเพศ

 ป้ายที่ใช้สัญลักษณ์แสดงถึงเพศ          

ป้ายที่แสดงถึงอุปกรณ์ในห้องน้ำ

ในงานสัมมนา All-Gender Restroom Design เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ 2566 ที่จัดขึ้นโดยบริษัทออกแบบสถาปัตยกรรม Trivers ประเทศสหรัฐอเมริกา Amanda Truemper, AIA, LEED AP BD+C กล่าวว่า “วัตถุประสงค์คือการสร้างสภาพแวดล้อมห้องน้ำที่รวม เท่าเทียมกัน และปลอดภัยเพื่อสนับสนุนบุคคลทุกคน เพราะไม่มีใครเป็นบุคคลมาตรฐาน พื้นที่เหล่านี้ควรคำนึงถึงความหลากหลายของมนุษย์อย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงเพศ ความสามารถ อายุ และวัฒนธรรม” และได้เสนอแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด 8 ประการสำหรับการออกแบบห้องน้ำทุกเพศ ประกอบด้วย:

1.ปริมาณห้องน้ำที่เพียงพอ บนเส้นทางการเดินทางที่เข้าถึงได้ง่าย ในแต่ละชั้นควรมีห้องน้ำรวมอย่างน้อยหนึ่งห้อง ในจุดที่ใกล้กับแนวท่อประปากลาง

2.การมีทางเข้าออกสองทางช่วยให้ผู้คนไม่รู้สึกติดกับดัก และหากมีเหตุการณ์ที่รู้สึกอึดอัดไม่ปลอดภัย จะสามารถออกไปได้อย่างง่ายดาย

3.ไม่ควรมีประตูทางเข้าหลายชั้น ลดอุปสรรคในการเข้าออก

4.ออกแบบเส้นทางการเดินที่สามารถวนกลับออกมาได้โดยไม่เจอทางตัน

5.ควรมีระบบฮาร์ดแวร์แจ้งเตือนว่าห้องน้ำมีคนกำลังใช้งานหรือไม่ 

6.คำนึงถึงมุมมองผ่านช่องประตูจากภายนอกและผนังกั้นระหว่างห้องน้ำ เพื่อความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว

7.คำนึงถึงความเป็นส่วนตัวทางเสียง โดยการใช้ผนังกั้นห้องที่สูงชนฝ้าเพดาน และรวมถึงอุปกรณ์ประกอบประตูที่มีคุณภาพ

8.พิจารณาใช้เครื่องสร้างเสียงหรือดนตรีที่เป็นเสียง White noise หรือเสียงบำบัดสีขาว หรือเสียงที่ได้ยินแล้วทำให้เพลิดเพลิน

แนวทางปฏิบัติทั้ง 8 ประการนี้ อาจทำได้ง่ายในอาคารที่สร้างขึ้นใหม่ แต่อาจจะเป็นปัญหาในการปรับปรุงห้องน้ำที่มีอยู่เดิม เนื่องจากข้อจำกัดด้านพื้นที่ ซึ่งสามารถเลือกใช้วิธีการอื่นทดแทนได้ เช่น หากไม่สามารถเปิดทางเข้า-ออก สองด้านได้ ก็ปรับให้ทางเข้า-ออก มีขนาดที่กว้างขึ้นแทน

อย่างไรก็ตาม ห้องน้ำทุกเพศ ถือเป็นทางเลือกเสริมที่ไม่ได้จำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงสิ่งที่มีอยู่เดิมทั้งหมด แต่อาจปรับใช้ร่วมกับห้องน้ำผู้พิการในการจัดวางสุขภัณฑ์แบบ Universal design แต่เพิ่มปริมาณห้องให้มากขึ้นและสามารถใช้ร่วมกันได้ทุกเพศวัย

การออกแบบ “Inclusive Restroom” ห้องน้ำสำหรับทุกเพศ เป็นโจทย์ที่ท้าทาย(Challenge) สำหรับนักออกแบบ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงบริบทของสังคม ที่ไม่มีการแบ่งแยกเพศ แต่ทุกคนมีความเป็นปัจเจกบุคคลอย่างเท่าเทียมกัน ที่ผมว่า อาคารใหม่ๆ เริ่มมีการออกแบบไปในทิศทางนี้มากขึ้น โดยเฉพาะอาคารสาธารณะที่มีผู้ใช้จำนวนมากและมีความหลากหลาย ที่สะท้อนให้เห็นว่า งานสถาปัตยกรรม ต้องตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงทางสังคม และ ตอบสนองต่อความต้องการของผู้คนในสังคมที่เปลี่ยนไป ซึ่งผมว่าในประเทศไทย น่าจะได้เห็น Inclusive Restroom ในพื้นที่สาธารณะหลายๆ แห่ง โดยเฉพาะในห้างสรรพสินค้า และอาคารสำนักงาน ที่ผมเห็นว่าให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากขึ้น

แล้วพบกันใหม่เดือนหน้าครับ

 

โดย นาย ประพันธ์ศักดิ์  รักษ์ไชยวรรณ
กรรมการผู้จัดการ
บริษัท แอล ดับเบิลยู เอส วิสดอม แอนด์ โซลูชั่นส์ จำกัด